ประวัติ : หลวงปู่หลิว วัดไร่แตงทอง

ประวัติ หลวงปู่หลิวเกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ปี พ.ศ.2448 ณ บ้านหนองอ้อ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ในตระกูล แซ่ตั้ง ของ นายเต่งและนางน้อย เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 9 คนในวัยเด็ก ขณะที่เพื่อนๆ วิ่งเล่นซุกซนกันตามประสาเด็กนั้น ท่านกลับมองถึงความยากลำบากของครอบครัว จึงช่วยทางบ้านทำงานทำการพร้อมเรียนวิชาช่างไม้จากผู้เป็นบิดาไปด้วย เมื่อโตขึ้นท่านจึงมีความชำนาญทางช่างเป็นเลิศ นอกจากนี้ ยังสนใจศึกษาด้านยาสมุนไพรจนกลายเป็นหมอยาประจำหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียง แต่แล้วชะตาชีวิตของท่านก็หักเหให้ต้องทิ้งบ้านเกิดเข้าป่าไปเรียนวิชาอาคมกับพระอาจารย์ชาวกะเหรี่ยงอยู่ถึง 3 ปี ก่อนจะกลับมาปราบโจรผู้ร้ายที่รังแกครอบครัวจนพ่ายแพ้ แล้วท่านก็แยกตัวออกมาทำงานของตัวเอง และมีภรรยาชื่อ นางหยด มีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน จนอายุได้ 27 ปี เบื่อหน่ายชีวิตฆราวาส จึงตัดสินใจบรรพชาเป็นพระภิกษุ ณ วัดโบสถ์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โดยมี หลวงพ่อโพธาภิรมย์ วัดบำรุงเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์ห่อ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา ปณฺณโก

จากนั้นกลับไปจำพรรษาที่วัดหนองอ้อ และเดินทางไปศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมกับอาจารย์ชาวกะเหรี่ยงอีกครั้ง รวมทั้ง หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี, พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช และ หลวงพ่ออุ้ม จ.นครสวรรค์ รวมถึงคณาจารย์อีกหลายท่านด้วยความที่หลวงปู่หลิวมีความชำนาญด้านงานช่าง ขณะที่จำพรรษาที่วัดหนองอ้อเพื่อเรียนพระปริยัติธรรม ท่านก็ต้องไปสร้างศาลาการเปรียญให้วัดโคก จ.สุพรรณบุรี ต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดร้างในหมู่บ้านท่าเสา เพื่อช่วยสร้างกุฏิและโบสถ์จนเสร็จ ในปี พ.ศ.2484 ได้รับนิมนต์ไปช่วยบูรณะวัดสนามแย้ จ.กาญจนบุรี จนวัดเจริญรุ่งเรืองจากนั้นไปสร้าง วัดไทรทองพัฒนา ขึ้นใหม่ ที่ ต.จระเข้เผือก อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี โดยในช่วงนั้นท่านได้เก็บสะสมเงินจากการบริจาคของญาติโยมไปสร้าง วัดไร่แตงทอง ที่ ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน ซึ่งเป็นบ้านเกิด ก่อนที่จะย้ายมาจำพรรษาและพัฒนาจนเป็นวัดใหญ่โตมีชื่อเสียง นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างสำนักสงฆ์ประชาสามัคคี อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และ สถานีอนามัยบ้านไร่แตงทอง (หลวงปู่หลิว ปัณณโก อุปถัมภ์) เฉลิมพระเกียรติ ปี 2540 จนท้ายสุดกลับมาจำพรรษาที่วัดหนองอ้อ ในฐานะเพียงพระลูกวัดและ มรณภาพเมื่อวันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ.2543 สิริอายุ 95 พรรษาที่ 74

หลวงปู่หลิว เป็นพระเกจิผู้ทรงอภิญญาและพุทธาคมสูงส่ง มีเมตตาบารมี ถือสันโดษ เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน มีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ หลังจากท่านมรณภาพแล้ว ในปี 2548 พระใบฎีกาสายชล จิตตะกาโร เจ้าอาวาสวัดไร่แตงทองรูปปัจจุบัน และคณะศิษยานุศิษย์ ได้จัดสร้างรูปเหมือนหลวงปู่หลิว นั่งประทับพญาเต่าเรือนองค์ใหญ่ พร้อมด้วยวิหารครอบ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดีซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งที่ผู้เลื่อมใสศรัทธาต่างหลั่งไหลไปกราบสักการะและลอดใต้ตัวเต่าด้วยความเชื่อว่าจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนยาวเหมือนเต่าและหลวงพ่อหลิวซึ่งมีอายุยืนถึง 95 ปี มีโชคมีลาภ ค้าขายร่ำรวย และมีเมตตามหานิยม

การจัดสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อหลิวนั้น ท่านเริ่มสร้างมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2500 ที่วัดสนามแย้ ในยุคแรกๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อผง ต่อมามีการจัดสร้างในหลายรูปแบบ ทั้ง เหรียญ, รูปหล่อลอยองค์, พระบูชา, พระสังกัจจายน์, พระปิดตา ส่วนเครื่องรางของขลัง มีอาทิ ตะกรุดคาดเอว, จิ้งจกสองหาง และ กัณหาชาลี เป็นต้น แต่ที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดและได้รับการยอมรับให้เป็นเจ้าตำรับ คือ เหรียญพญาเต่าเรือน ซึ่งท่านศึกษาวิชานี้มาจาก หลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เหรียญพญาเต่าเรือน ลักษณะเป็นรูปเต่า มี 4 ขา ปลายหัวด้านบนมีหู ลักษณะเดียวกับหูเหรียญ ส่วนรายละเอียดของตัวเต่านั้นจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น ดังเช่นตัวอย่างที่นำมาให้ชม คือ พญาเต่าเรือนรุ่นแรก สร้างเมื่อปี พ.ศ.2516 ณ วัดสนามแย้ และพญาเต่าเรือน รุ่นปลดหนี้ สร้างในปี พ.ศ.2536 ที่วัดไร่แตงทอง แต่ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนขอให้ทันหลวงปู่หลิวปลุกเสก ก็ล้วนมีประสบการณ์ครบถ้วน ทั้ง คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ทำมาค้าขายร่ำรวย และมีโชคลาภ เช่นกัน

“คาถาขอลาภหลวงปู่หลิว” ตั้งนะโม3 จบ

จะมะหาเถรา สุวรรณณะมามา ระชะมามา เพชรชะมามา อาหาระมามา ขาทะนียะมามา โภชะนียะมามา สัพเพชะนา พะหูชะนา สัพพะบูชา ภะวันตุเม นะชาลีติ อาคัจฉัยยะ อาคัจฉาหิ

“คาถาพญาเต่าเรือน”

นะมะภะทะ นาสังสิโม สังสิโมนา สิโมนาสัง โมนาสังสิ นะอุทะกะ เมมะอะอุอะ

อ้างอิง : ข้อมูลจาก THAILAND

 

 

ประวัติที่เกี่ยวข้อง